วันที่ 24 เม.ย.65 ทีมพลังรักษ์สหกรณ์ นำโดย นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์สำนักงานอัยการสูงสุด จำกัด นายเสนอ วิสุทธนะ กรรมการและเลขานุการสหกรณ์ออมทรัพย์สหภาพแรงงานการไฟฟ้านครหลวง จำกัด นายสมยศ เสาวคนธ์ ประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนราธิวาส จำกัด นายสงบ จินะแปง ประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูน่าน จำกัด นายธงชัย วิทยานุกรณ์ รองประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์สหยูเนี่ยน เขตบางประกง จำกัด นายบุญธรรม เดชบุญ รองประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด นายเทิม มิตรจิต ประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเพชรบุรี จำกัด นายวิทยา ประเทศ กรรมการ/ผู้จัดการ สหกรณ์ออมทรัพย์กรมอนามัย จำกัด และผศ.ดร.รังสรรค์ ปิติปัญญา รองประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำกัด ร่วมแถลงนโยบายในการลงสมัครรับเลือกตั้งกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ชสอ.) ประจำปี 2565 ณ อาคารสวัสดิการฌาปนกิจสงเคราะห์สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ไทย (สฌ.สอ.) อ.บางกรวย จ.นนทบุรี
โดยนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม กล่าวว่า ในปีนี้ทีมพลังรักษ์สหกรณ์ ได้จัดส่งผู้สมัครที่มีความรู้ความสามารถด้านโครงสร้างทางการเงินมาระดมเพื่อหาทางพัฒนาแก้ไขปัญหา กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงาน เพื่อเข้ามารับใช้พี่น้องสหกรณ์สมาชิก โดยนโยบายที่สำคัญข้อหนึ่งคือเรื่องการสนับสนุนสหกรณ์ออมทรัพย์ปลดแอกจากธนาคารและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารเงินซึ่งทางทีมมองว่า การสนับสนุนให้สหกรณ์ออมทรัพย์สมาชิกในภูมิภาคเดียวกันมีสาขาวิชาชีพเดียวกัน การจัดตั้งชุมนุมของตนเองเป็นเรื่องที่สำคัญรวมถึงการร่วมมือกับชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ และสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่บริหารเงินของกระบวนการให้เกิดประโยชน์สูงสุดยกระดับประสิทธิภาพและความเข้มแข็งของสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดเล็กและสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีปัญหาทางการเงินให้สูงขึ้น โดยจะผลักดันให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดกลางและเล็กที่มีเงินเหลือร่วมกันลงทุนในตราสารหนี้ตราสารทุนผ่านเงินฝาก เพื่อการลงทุนพร้อมกับพัฒนาศักยภาพให้สามารถลงทุนได้อีกในอนาคต
ปัจจุบัน ชสอ. ยังให้บริการสหกรณ์ออมทรัพย์สมาชิกไม่ทั่วถึงมีการปล่อยกู้เพื่อช่วยเหลือสมาชิกเพียงไม่กี่เปอร์เซนต์ เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนสมาชิกสหกรณ์ที่มีทั่วประเทศจึงถือได้ว่ายังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ได้อย่างเต็มที่ ทีมพลังรักษ์สหกรณ์จึงขออาสาเข้ามาช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาของสหกรณ์ออมทรัพย์และผลักดันนโยบายต่างๆ เพื่อให้สหกรณ์ออมทรัพย์สมาชิกได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง
ด้านผศ.ดร.รังสรรค์ ปิติปัญญา กล่าวว่า สำหรับ นโยบายของทีมพลังสหกรณ์มี 9 ข้อ ได้แก่ 1.ผลักดันการแก้ไข พรบ.สหกรณ์และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ วาระการดำรงตำแหน่งกรรมการดำเนินการจาก 2 ปีเป็น 3 ปี ให้เงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืน เป็นบุริมสิทธิ์ของสหกรณ์ที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น ให้กรรมการของสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบการเข้าร่วมประชุมโดยถือเป็นการปฏิบัติงานขององค์กร และผลักดันการแก้ไขกฎหมายอื่นๆ ให้เอื้อต่อการพัฒนา เช่น สามารถนำเงินที่จ่ายเพื่อสงเคราะห์ศพได้ 2.ร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์สมาชิก พัฒนาและจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก 3.สนับสนุนสหกรณ์ออมทรัพย์ “ปลดแอกจากธนาคาร” และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารเงินโดยสนับสนุนให้สหกรณ์ออมทรัพย์สมาชิกในภูมิภาคเดียวกัน หรือสาขาวิชาชีพเดียวกัน จัดตั้งชุมนุมของตนเอง ร่วมมือกับชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์อื่น และสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่บริหารเงินของขบวนการให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยกระดับประสิทธิภาพและความเข้มแข็งของสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดเล็ก และสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีปัญหาทางการเงินให้สูงขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดกลางและเล็กที่มีเงินเหลือโดยร่วมกันลงทุนในตราสารหนี้ตราสารทุนผ่าน “เงินฝากเพื่อการลงทุน” พร้อมกับพัฒนาศักยภาพให้สามารถลงทุนได้เองในอนาคต ยอมให้สหกรณ์ออมทรัพย์สมาชิก Renamce เงินกู้ที่มีอยู่กับ ชสอ. และสถาบันการเงินได้ เพื่อลดต้นทุน
4.ผลักดันการตั้งกองทุนเสถียรภาพทางการเงินของขบวนการสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อแก้วิกฤตการเงิน 5.ยกระดับศักยภาพกรรมการและบุคลากรของสหกรณ์ออมทรัพย์ให้ดีและมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น 6.เร่งนำเทคโนโลยีทางการเงินและการบริหารองค์กรยุคดิจิทัลมาปรับใช้กับ ชสอ. และสหกรณ์ออมทรัพย์ 7.สนับสนุนการปรับปรุงระบบเลือกตั้งที่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของสหกรณ์ออมทรัพย์อย่างเป็นระบบและจริงจัง 8.ผลักดันการตั้งศูนย์ประสานงานกลาง เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาสหกรณ์ออมทรัพย์สมาชิก และ 9.ร่วมมือกับสหกรณ์ ประเภทอื่นๆ ในทุกมิติรวมถึงร่วมมือกับพรรคการเมืองจัดทำนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการสหกรณ์อย่างเป็นรูปธรรม
เมื่อถามถึงการแก้ภาพลักษณ์ของสหกรณ์ ที่ถูกสังคมมองว่า “สหกรณ์ทุจริต” นายปรเมศวร์ กล่าวว่า ทีมพลังสหกรณ์ ได้นำเสนอว่าการจะแก้ทุจริตสหกรณ์ ต้องนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อตรวจสอบตัวเอง เปิดดูแอพพลิเคชั่นผ่านหน้าจอโทรศัพท์ รู้ทันที่มีหุ้นเท่าไหร่ มีเงินกู้ หรือค้ำประกันใครหรือเปล่า ถ้าสามารถตรวจเช็คได้ด้วยตัวเอง ทำให้กระบวนการทุจริตเกิดขึ้นไม่ได้ ซึ่งทางทีมได้พยายามถอดบทเรียนปัญหาของการทุจริต เพื่อหาช่องทางการแก้ปัญหา และค่อยระวังไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก ทั้งนี้ สหกรณ์ไม่เหมือนธุรกิจอื่น เช่น ถ้าทำร้านกาแฟ ก็ต้องการให้ร้านกาแฟกระจายไปทั่วประเทศเพื่อสะดวกบริการทุกคน แต่สหกรณ์พื้นฐานจริงๆ สหกรณ์จะใหญ่ จะโตไม่สำคัญ แต่สำคัญคือ “สมาชิกทุกคนต้องมีความสุข และอยู่อย่างยั่งยืน”