นายพิศาล พงศาพิชณ์ กล่าวว่า ในการประชุมมีการแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อหาข้อสรุปในการกำหนดเอกสารแนวทางการบูรณาการการติดตามและเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพที่มาจากอาหาร (Guidelines on Integrated Monitoring and Surveillance of Foodborne Antimicrobial Resistance, GLIS) และเอกสารหลักปฏิบัติที่ดีในการลดและควบคุมเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพที่มาจากอาหาร (Code of Practice to Minimize and Contain Foodborne Antimicrobial Resistance; COP)
ทั้งนี้ ทีมไทยได้เสนอให้ที่ประชุมคำนึงถึงความแตกต่างทางทรัพยากร และองค์ความรู้ของประเทศสมาชิกแต่ละประเทศ เพื่อให้สามารถนำเอกสารมาใช้ปฏิบัติได้จริง และไม่ก่อให้เกิดการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะการปฏิบัติที่เกี่ยวกับพืช รวมทั้งกระตุ้นให้หน่วยงานที่กำหนดมาตรฐานด้านพืช ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้นนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกยังมีข้อมูลอยู่จำกัด เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการทำงานเพื่อลดปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างมีประสิทธิภาพที่ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อาหาร
"เอกสารทั้ง 2 ฉบับจะนำเสนอเพื่อให้ที่ประชุม CAC ทราบความคืบหน้าการดำเนินการต่อไป โดยคาดหวังว่าจะประกาศใช้ได้ภายในปี 2564 นี้ เพื่อเป้าหมายในการลดและแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพอย่างยั่งยืน" เลขาธิการ มกอช. กล่าว