Newstimestory

สถาบันวิจัยฯ มรภ.สวนสุนันทา หนุนนักวิจัยส่งผลงานประกวดในเวทีนานาชาติ หลังคว้าแชมป์รางวัลเหรียญทองมาหลายรุ่น

สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้จัดทำ “โครงการส่งเสริมการประกวดผลงานวิชาการสู่เวทีระดับชาติและนานาชาติ” เพื่อเป็นเวทีในการเผยแพร่ผลงานวิจัยของอาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยให้เป็นรู้จักในระดับประเทศและระดับนานาชาติ สามารถนำไปต่อยอดขยายผลสู่การปฏิบัติ พัฒนาท้องถิ่นและภูมิปัญญาไทย สร้างชุมชนที่มีความเข้มแข็งมีรายได้ที่ยั่งยืน

รองศาสตราจารย์ ดร.รจนา จันทราสา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า สถาบันวิจัยและพัฒนา ได้ผลักดันให้มีการจัดทำ “โครงการส่งเสริมการประกวดผลงานวิชาการสู่เวทีระดับชาติและนานาชาติ” มาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้อาจารย์ และนักวิจัยของ มรภ.สวนสุนันทา ได้พัฒนาสร้างสรรค์งานวิจัยหรือสิ่งประดิษฐ์  โดยเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้มีพื้นที่แสดงความสามารถของตน ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวไทยและชาวต่างชาติ เรียกได้ว่า “เป็นคลังความรู้ สร้างปัญญาและนวัตกรรมด้านวิจัย บริการวิชาการเพื่อพัฒนาท้องถิ่นสู่สากล” ที่สามารถส่งเสริมในการสร้างชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับสากล ที่สำคัญ คือนักวิจัยสามารถพัฒนาผลงานของตนเองไปสู่นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ต่อไป

ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา สามารถคว้ารางวัลมาได้กว่า 100 รางวัล โดยแต่ละผลงานที่ส่งเข้าประกวดจะมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถเป็นที่ปรึกษาและเป็นผู้พิจารณาประเมินผลงานให้กับนักวิจัยที่ต้องการเข้าร่วมการประกวดผลงานวิชาการในเวทีระดับชาติและนานาชาติ โดยคัดเลือกจากผลงานวิจัยนวัตกรรมที่มีความโดดเด่น และมีศักยภาพ ที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยได้ จากนั้นสถาบันวิจัยและพัฒนา ส่งเสริมนักวิจัยให้ไปแข่งขันยังเวทีของแต่ละประเทศ ประกอบไปด้วยเวที เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง รัสเซีย โรมาเนีย และแคนาดา ทั้งนี้ ที่ผ่านมาผู้เข้าร่วมการประกวดจะต้องนำผลงาน  โปสเตอร์ และข้อมูลสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ไปจัดแสดงในแต่ละเวทีเพื่อให้คณะกรรมการตัดสิน แต่นับตั้งแต่ปี 2563 มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จึงมีการเปลี่ยนเป็นรูปแบบการประกวดออนไลน์ ซึ่งแต่ละเวทีรูปแบบการนำเสนอแตกต่างกัน โดยการส่งผลงานเข้าประกวด จะเป็นการนำเสนอแบบ Poster หรือการนำเสนอแบบ Presentation 

โดยในปีนี้มีผลงานเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้นจำนวน 29 ผลงาน ตัวอย่างผลงานที่มีความโดดเด่นและได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ ได้แก่  ผลงาน “ภาชนะจากเส้นใยหญ้าแฝก Eco-friendly containers from vetiver fibers” ได้รับรางวัล เหรียญทอง (Gold Medal) จากเวที 2020 International Innovation & Invention Competition (2020IIIC) ประเทศไต้หวัน ผลงาน “กระดาษจากสาหร่ายในนากุ้ง RE-NO-WASTE” ได้รับรางวัล เหรียญทอง (Gold Medal) จากเวที 2020 IIDC Hong Kong International Invention and Design Competition เกาะฮ่องกง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และ ผลงาน “กระดาษจากเปลือกถั่ว Peanut shell Paper” ได้รับรางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) จากเวที X European Exhibition of Creativity and Innovation : E U R O I N V E N T 2021 ประเทศโรมาเนีย

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภานุ พัฒนปณิธิพงศ์ รองคณบดีฝ่ายแผนงานและประกันคุณภาพ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สวนสุนันทา กล่าว ถึงผลงานภาชนะจากเส้นใยหญ้าแฝกว่า จากการวิจัยพัฒนาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจักสานจากใบหญ้าแฝกร่วมกับชุมชนเครือข่ายกลุ่มหัตถกรรมจักสานหญ้าแฝกจังหวัดพะเยา อุดรธานีและสุรินทร์ ซึ่งพบว่าใบหญ้าแฝกสามารถนำมาทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้มากมาย จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเรื่องของการแปรรูปใบหญ้าแฝกที่สามารถนำไปใช้ได้หลากหลายมากขึ้น หรือมีคุณลักษณะของสมบัติทางกายภาพที่มีคุณภาพสูงขึ้น จนได้ออกมาเป็นผลงานจานจากกระดาษหญ้าแฝก ที่มีคุณสมบัติมีความเหนียว แข็งแรงทนทานต่อการดึงและการฉีกขาดได้ดี สามารถนำไปใช้เป็นภาชนะใส่อาหารที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน สามารถตอบโจทย์ด้านการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า รวมทั้งได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมรองรับกระแสนิยมการอนุรักษ์ธรรมชาติของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน 

การสร้างสรรค์ผลงานดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานความต้องการและศักยภาพความสามารถของชุมชนเครือข่ายกลุ่มหญ้าแฝกที่มีความพร้อมด้านทรัพยากร ด้านบุคลากร และสภาพแวดล้อมทางกายภาพ กระบวนการสร้างสรรค์ผลงานเริ่มจากการมีส่วนร่วมเรียนรู้ ทั้งร่วมคิด ร่วมทำ และการใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชนและผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งหลังจากที่ชุมชนได้ฝึกปฏิบัติการสร้างสรรค์ผลงานซ้ำๆ จนมีคุณภาพมาตรฐานสม่ำเสมอ ก็สามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่การผลิตเพื่อการค้าได้

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์นภดล สังวาลเพ็ชร รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สวนสุนันทา กล่าวว่า แนวคิดในการออกแบบผลงาน “กระดาษจากสาหร่ายในนากุ้ง” เป็นการนำทรัพยากรที่มีในธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากสาหร่ายในนากุ้ง ที่ชาวบ้านเรียกว่าสาหร่ายผมนาง (วัชพืชที่เกิดจากกระบวนการเลี้ยงกุ้ง) ลักษะคล้ายเส้นใย มีความเหนียว เงา สีเขียวอ่อน แต่ถ้ามีสาหร่ายมากเกินไปจะทำให้น้ำเน่าเสีย เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจะตักสาหร่ายขึ้นจากบ่อนำไปทิ้งทำให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นแนวคิดที่จะนำสาหร่ายในนากุ้งนี้มาพัฒนาเป็นวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรได้ จากการวิเคราะห์ทั้งลักษณะของสาหร่ายและสภาพแวดล้อมชุมชน พบว่าการแปรรูปที่มีความเหมาะสม ควรเป็นการแปรรูปเป็นกระดาษสาจากสาหร่ายในนากุ้ง 

จุดเด่นและเอกลักษณ์ของผลงานกระดาษจากสาหร่ายในนากุ้ง มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้โดยธรรมชาติ สามารถใช้เป็นวัสดุทดแทนกระดาษในการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กระดาษมีความโปร่งแสงสามารถนำมาเป็นผลิตเป็นโคมไฟ ดูดซับน้ำได้ดีสามารถนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์กระจายน้ำหอมเพื่อปรับอากาศในห้องหรือที่พักอาศัย หรือที่รองแก้วน้ำ มีเส้นใยยาวและจำนวนมาก สามารถนำมาผลิตเป็นแผ่นซับเสียง หรือนำไปอัดขึ้นรูปเป็นภาชนะบรรจุอาหาร นอกจากนี้ ยังมีพื้นผิวและสีที่เป็นเอกลักษณ์ สามารถนำมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก เช่น ปกสมุด ที่คั่นหนังสือ หรือนำมาห่อช่อดอกไม้ ซึ่งการออกแบบผลงานกระดาษจากสาหร่ายในนากุ้งนี้ เป็นการแก้ปัญหาทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากปริมาณของสาหร่าย ที่ส่งผลกระทบต่ออาชีพการทำนากุ้ง ทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียกลายเป็นขยะมูลฝอยปริมาณมาก และส่งกลิ่นเหม็นรบกวน ทั้งยังเป็นแนวทางการสร้างรายได้และอาชีพเสริมให้กับชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วย

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกพงศ์ อินเกื้อ คณบดีศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สวนสุนันทา กล่าวถึงผลงานกระดาษจากเปลือกถั่วว่า แนวคิดการออกแบบผลงานกระดาษจากเปลือกถั่ว เริ่มต้นจากต้องการเพิ่มมูลค่ากับสิ่งเหลือทิ้งจากการเกษตร ด้วยเทคโนโลยีที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อนและชุมชนสามารถผลิตได้เอง กิจกรรมทั้งหมดชาวบ้านสามารถทำได้ และได้ผลผลิตที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาด โดยจุดที่น่าสนใจคือการสร้างพื้นผิวของกระดาษจากเปลือกถั่ว ซึ่งปกติไม่เป็นที่นิยมนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่จะพบในการนำไปทำปุ๋ย กระดาษจากเปลือกถั่วจึงมีความน่าสนใจในตัวของมันเอง ในกระบวนการผลิตก็สามารถใช้กระบวนการที่ไม่ซับซ้อน นั่นคือการทำกระดาษสา แต่เรามีสูตรพิเศษในสัดส่วนและการเตรียมเปลือกถั่วในขั้นต้น นอกจากนี้ยังมีซังข้าวโพดซึ่งมีความเป็นเส้นใยสูงพอสมควรเป็นส่วนประกอบในอัตราส่วนที่เหมาะสม ก็จะได้กระดาษที่มีพื้นผิวสวยงาม และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับเปลือกถั่ว อย่างไรก็ตาม หัวใจของงานออกแบบในลักษณะนี้คือการมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งเหลือทิ้งทางการเกษตร ประเทศไทยยังมีสินค้าเกษตรจำนวนมาก ถ้าเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งเหลือทิ้งเหล่านี้ได้จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาล


ใหม่กว่า เก่ากว่า