กรมชลประทาน ขอชี้แจงกรณี นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ระบุว่าตลอด 7 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ฯ ได้ใช้งบประมาณ บริหารจัดการน้ำปีละประมาณ 6 หมื่นล้านบาท รวมแล้วมากกว่า 4 แสนล้านบาท แต่ประชาชนยังคงประสบปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งทุกปี นั้น
นายวิทยา แก้วมี ผู้อำนวยการกองแผนงาน กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า กรมชลประทาน เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องน้ำ ซึ่งมีการร่วมบูรณาการทำงานกับหลายหน่วยงาน โดยที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานระหว่างปีงบประมาณ 2557-2564 สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้แล้วกว่า 2 ล้าน ไร่ เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้กว่า 2,000 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์เพิ่มขึ้นกว่า 10 ล้านไร่ และมีจำนวนครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์กว่า 6 ล้านครัวเรือน
พื้นที่ของไทยมีทั้งหมด 320 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม 150 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาระบบชลประทานได้ประมาณ 60 ล้านไร่ แต่ในปัจจุบันสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทานได้ 35 ล้านไร่ ในขณะที่ข้อมูลน้ำฝนและน้ำท่าที่เกิดขึ้นในประเทศ พบว่า ไทยมีฝนเฉลี่ยปีละ 1,588 มิลลิเมตร คิดเป็นน้ำท่าใช้การได้ 205,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ยังเก็บกักน้ำได้เพียง 82,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของปริมาณน้ำท่าทั้งหมด
ทั้งนี้ ภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) การเติบโตของพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ นโยบายเกษตร 4.0 และ Thailand 4.0 รวมทั้งการจัดทำสมดุลน้ำ (Water Balance) เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำและปริมาณน้ำที่มีอยู่ การปรับจำนวนลุ่มน้ำเหลือ 22 ลุ่มน้ำ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทานต้องวางแผนการดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำให้เข้มข้นมากขึ้น มาตรการใช้สิ่งก่อสร้างด้านเดียวจึงไม่เพียงพอต่อการดำเนินภารกิจให้บรรลุเป้าหมาย นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนา
เทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินงานที่สำคัญในการบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (Smart Water Operation Center : SWOC) โดยมี SWOC MODEL และ MODEL อื่นๆ ทำหน้าที่ประมวล วิเคราะห์ข้อมูล คาดการณ์สถานการณ์น้ำด้วยระบบที่ทันสมัย สนับสนุนการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำอย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว ทันเหตุการณ์ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่ศักยภาพทั่วประเทศ การติดตั้งระบบโทรมาตรเพื่อการพยากรณ์น้ำและเตือนภัยลุ่มน้ำ เป้าหมายเพื่อการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์
น้ำโดยการประยุกต์ใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์ เพื่อประกอบการพิจารณาวางแผน/จัดเตรียมความพร้อมและบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพทันต่อสภาวการณ์ ครอบคลุม 22 ลุ่มน้ำ การพัฒนาฐานข้อมูลกลาง Big Data ด้านน้ำและการชลประทาน เพื่อพัฒนาระบบการบริหารงานบนพื้นฐานดิจิทัล (Digital Platform) โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาปรับปรุงระบบการทำงานให้บูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ตามนโยบายคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 การพัฒนาแอพพลิเคชั่น WMSC (Water Watch and Monitoring System For Warning Center)
สำหรับโครงการชลประทานสำคัญๆ ที่สามารถดำเนินงานจนเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม สร้างประโยชน์อย่างมหาศาลให้กับประชาชน อาทิ โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) จ.สงขลา แผนดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2565 เมื่อแล้วเสร็จจะได้คลองระบายน้ำความยาว 20.937 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้ 1,200 ลบ.ม./วินาที ช่วยระบายน้ำและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ มีพื้นที่ได้รับการป้องกันและลดผลกระทบกว่า 12,500 ไร่ , โครงการเพิ่มน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ได้มากกว่า 1,610,000 ไร่ ช่วยผันน้ำไปเติมให้กับเขื่อนภูมิพลได้ปีละประมาณ 1,795.25 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ได้เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว , โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง เพื่อเติมน้ำให้แหล่งเก็บกักน้ำเดิมให้มีปริมาณน้ำต้นทุนที่มั่นคงสำหรับอุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว ตลอดจนรักษาระบบนิเวศ รวมทั้งช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยด้วยการดักน้ำหลากจากพื้นที่รับน้ำตอนบน ปัจจุบันอยู่ระหว่างทำรายงานชี้แจง คชก. (EIA) ครั้งที่ 14 , โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำต้นทุนของเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ตอบสนองความต้องการใช้น้ำทั้งในด้านการเกษตร ด้านอุปโภคบริโภค และภาคอุตสาหกรรม มีผลงานคืบหน้าไปแล้วประมาณร้อยละ 62 , โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดอุตรดิตถ์ ช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคของราษฎร มีผลงานคืบหน้าแล้วร้อยละ 72 , โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอบางสะพาน ตามแนวพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองบางสะพานได้ 520 ลบ.ม./วินาที ช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ชุมชนตัวเมืองบางสะพานได้อย่างมีประสิทธิผล พื้นที่น้ำท่วมลดลง 4,894 ไร่ ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมลดลง 1,640 ครัวเรือน ผลงานคืบหน้าไปแล้วร้อยละ 93, โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 6 โครงการ ได้แก่ โครงการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง โครงการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำหนองค้อ จ.ชลบุรี โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบผันน้ำแม่น้ำบางปะกง-อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและปริมาณการจ่ายน้ำท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ จ.ชลบุรี โครงการสระทับมา จ.ระยอง และโครงการอ่างเก็บน้ำคลองกระแส จ.ชลบุรี สามารถเพิ่มปริมาณน้ำเพื่อรองรับโครงการ EEC ได้รวมกันประมาณ 250.45 ล้าน ลบ.ม. , โครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำหนองช้างใหญ่ ตำบลยางสักกระโพหลุ่ม อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี (งานดำเนินการเอง) ผลสัมฤทธิ์เมื่อโครงการแล้วเสร็จ สามารถเพิ่มความจุได้ 9.50 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 8,000 ไร่ มีพื้นที่รับประโยชน์ 7,600 ไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 2,000 ครัวเรือน มีผลงานคืบหน้าร้อยละ 30
กรมชลประทาน ขอยืนยันว่าใช้งบประมาณในการพัฒนาแหล่งน้ำ และบริหารจัดการน้ำทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง จะก่อให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพอย่างสูงสุดต่อประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต