Newstimestory

สทนช.เร่งแก้ปัญหาแหล่งน้ำดิบเพื่อการประปา อ.สวนผึ้ง กระตุ้นฟื้นท่องเที่ยวหลังกระทบโควิด


สทนช. ติดตามการแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำดิบเพื่อการประปาในแหล่งท่องเที่ยว อ.สวนผึ้ง เพื่อรองรับการท่องเที่ยวหลังการฟื้นตัวจากภัยโรคโควิด รวมทั้งการแก้ไขสิ่งกีดขวางน้ำป่าไหลหลากที่อาจเกิดขึ้นช่วงปลายฤดูฝน

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำดิบเพื่อการผลิตประปาของอำเภอสวนผึ้ง แหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา แต่การประปาอำเภอสวนผึ้งซึ่งใช้น้ำดิบจากแม่น้ำภาชีอยู่ในลุ่มน้ำแม่กลอง มักประสบปัญหาน้ำดิบไม่เพียงพอในการผลิตน้ำประปา เนื่องจากฝายสวนผึ้งที่ทำหน้าที่เก็บกักและยกระดับน้ำหน้าจุดสูบน้ำดิบของการประปาสวนผึ้งพังทลาย ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้จากสภาพท้องน้ำที่เป็นตะกอนทราย รวมทั้งน้ำป่าไหลหลากจากฝนตกหนักบริเวณต้นน้ำกัดเซาะตัวฝายเสียหาย รวมทั้งยังไม่มีการพัฒนาอ่างเก็บน้ำตอนบนของแม่น้ำภาชีด้วย ขณะเดียวกัน บริเวณท้ายน้ำของแม่น้ำภาชีบริเวณชุมชนตำบลหนองไผ่ใกล้ตัวอำเภอด่านมะขามเตี้ย ในช่วงน้ำหลากประสบปัญหาน้ำท่วมเกือบทุกปี เนื่องจากถนนกีดขวางการระบายน้ำและมีช่องระบายน้ำไม่เพียงพอ 


ดังนั้น เพื่อเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สทนช. ได้เน้นย้ำกรมชลประทานเร่งรัดงานก่อสร้างประตูระบายน้ำสวนผึ้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ตามแผนที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2572 แบ่งเป็น ก่อสร้างหัวงาน ปี’66-69 และก่อสร้างระบบ ปี’70-72 เพื่อให้การประปาสวนผึ้งมีแหล่งน้ำดิบเพื่อการผลิตประปาให้แก่ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งการอุปโภคบริโภคของรีสอร์ทต่างๆ ในอำเภอสวนผึ้ง ขณะที่แผนระยะต่อไปจะเร่งผลักดันการพัฒนาแหล่งน้ำและปรับปรุงประตูระบายน้ำที่เหลืออีก 4 แห่งในลำภาชี ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้แก่ภารการท่องเที่ยว การเกษตรกรรม การบรรเทาอุทกภัย และลดการกัดเซาะพังทลาย เนื่องจากสภาพลำน้ำเป็นตะกอนทราย รวมทั้งประสานงานกรมทางหลวงชนบทให้รีบเข้ามาแก้ไขการระบายน้ำของทางหลวงชนบท 2 สาย และบรรเทาอุทกภัยให้แก่ชุมชน อ.ด่านมะขามเตี้ยอีกด้วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำภาชี และอยู่ในแผนปฏิบัติการตามเป้าหมายการพัฒนาทรัพยากรน้ำในโครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์และแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพื้นที่ลุ่มแม่กลอง เนื่องจากอยู่ในแผนการพัฒนาแหล่งน้ำที่สร้างความมั่นคงน้ำอุปโภคบริโภค ขณะเดียวกัน ยังช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในพื้นที่ด้วย


ดร.สมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลองมีพื้นที่เป้าหมายในการแก้ไขปัญหาด้านน้ำอย่างบูรณาการ (Area-based) 4 พื้นที่ ได้แก่ ลุ่มน้ำลำตะเพิน และ อ.ห้วยกระเจา – เลาขวัญ ลุ่มน้ำที่ราบแม่น้ำแม่กลอง ปากแม่น้ำแม่กลอง และสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี รวมพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม 14,000 ไร่ เสี่ยงภัยน้ำแล้ง 1.5 ล้านไร่ เสี่ยงน้ำท่วมและภัยแล้ง 3,700 ไร่ และน้ำเค็มรุกล้ำอีก 60,200 ไร่ โดยจะทบทวนพื้นที่ Area-based ให้ชัดเจนอีกครั้งโดยใช้การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA เป็นเครื่องมือ เบื้องต้นพบว่า แม้ว่าภาพรวมของทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำแม่กลองปัจจุบันถือว่ามีเพียงพอ แต่การใช้น้ำยังขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านการกระจายตัว และความเท่าเทียมในการใช้น้ำของผู้อยู่ต้นน้ำและท้ายน้ำ รวมทั้งมีปัญหาการขาดแคลนน้ำเฉพาะพื้นที่ ซึ่งภาครัฐมีแนวทางการแก้ไขปัญหารองรับไว้แล้ว แต่ยังต้องมีการศึกษาผลกระทบให้รอบด้านก่อนเริ่มโครงการ อาทิ โครงการผันน้ำเขื่อนศรีนครินทรเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำใน 5 อำเภอของจังหวัดกาญจบุรี เป็นต้น

“สทนช.จะนำผลการศึกษาการพัฒนาโครงการด้านน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลองและลุ่มน้ำข้างเคียงที่มีอยู่เดิมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน มาพิจารณาประกอบกันเพื่อให้ได้แผนหลัการพัฒนาทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำแม่กลองในพื้นที่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการศึกษาฯ แล้วเสร็จในเดือน ม.ค.65 เพื่อให้หน่วยงานเกี่ยวข้องนำไปจัดทำแผนปฏับิติการพัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำแม่กลองตามเป้าหมายแผนแม่บทน้ำฯ 20 ปี โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งใน 8 อำเภอ ในจังหวัดกาญจนบุรี อาทิ อ.เลาขวัญ อ.ด่านมะขามเตี้ย และอ.เมืองกาญจนบุรี รวมถึง 2 อำเภอในจังหวัดราชบุรี ได้แก่ อ.สวนผึง และ อ.จอมบึง รวมถึงแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณจุดบรรจบบลำน้ำสาขาก่อนไหลลงสู่อ่าวไทย รวมถึงปัญหาด้านคุณภาพน้ำบริเวณที่ราบริมแม่น้ำแม่กลอง และปากแม่น้ำจากโรงงานอุตสาหกรรมและฟาร์มสุกรอีกด้วย

ใหม่กว่า เก่ากว่า