Newstimestory

ชป. สู้ไม่ถอย บริหารจัดการน้ำภายใต้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดเต็มศักยภาพ

กรมชลประทาน ปรับเพิ่มการระบายควบคุมค่าความเค็มลุ่มเจ้าพระยา หวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหลังกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าจะมีปริมาณฝนเพิ่มในสัปดาห์นี้ พร้อมเดินหน้าบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนอย่างเคร่งครัด ตามนโยบายรัฐบาล 

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน (5ก.ค.64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 34,043 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 10,018 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 7,577 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 881 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่มีการเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้วทั้งประเทศรวม 9.53 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 57 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 4.89 ล้านไร่  คิดเป็นร้อยละ 61 ของแผนฯ 

ทั้งนี้ จากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับพื้นที่ตอนบนมีฝนตกน้อยไม่สม่ำเสมอ ส่งผลให้ปัจจุบัน(5 ก.ค. 64)ที่สถานีสูบน้ำประปาสำแลของการประปานครหลวง(กปน.)  มีค่าความเค็มวัดได้ 0.75 กรัม/ลิตร (มาตรฐานการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัม/ลิตร) กรมชลประทาน จึงได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตรา 120 ลบ.ม./วินาที ควบคู่ไปกับการปรับการระบายจากเขื่อนพระรามหกในอัตรา 60 ลบ.ม./วินาที พร้อมผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองผ่านสถานีสูบน้ำพระยาบรรลือมายังสถานีสูบน้ำสิงหนาทในอัตรา 15 ลบ.ม./วินาที เพื่อควบคุมค่าความเค็มไม่ให้เกินมาตรฐานในการผลิตน้ำประปา รวมทั้งเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงอีกครั้งในช่วงสัปดาห์หน้า 

อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าตั้งแต่วันนี้(5 ก.ค. 64) เป็นต้นไป จะมีปริมาณฝนตกกระจายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อปริมาณน้ำในเขื่อน จึงได้ให้โครงการชลประทานทั่วประเทศติดตามสถานการณ์น้ำท่าและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเน้นน้ำอุปโภคบริโภคต้องเพียงพอ ตามข้อสั่งการของรัฐบาล โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) รวมทั้งนำสถิติปริมาณฝนในปี 51 มาเป็นข้อมูลแนวทางในการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้สอดคล้องกันอย่างเป็นระบบ เพื่อการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น   เนื่องจากปัจจุบันสภาพอากาศมีความแปรปรวนสูง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อน้ำต้นทุนที่ใช้ในการเพาะปลูกของเกษตรกร จำเป็นต้องจัดสรรน้ำตามรอบเวรให้กับพื้นที่การเกษตรที่ทำการเพาะปลูกไปแล้ว ส่วนเกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูก ขอให้ชะลอการเพาะปลูกออกไปก่อน จนกว่าจะมีปริมาณฝนตกในพื้นที่สม่ำเสมอและมีปริมาณน้ำเพียงพอ เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหาย

กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำภายใต้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด ด้วยความประณีตทั่วถึงและเป็นธรรม พร้อมร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งเดินหน้าประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง จึงขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อสอบถามได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา

ใหม่กว่า เก่ากว่า