Newstimestory

มกอช. ถกเครียด “คณะทำงาน Codex AMR” เตรียมออกแนวทางแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พร้อมด้วยสัตวแพทย์หญิงธนิดา หรินธรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานการปศุสัตว์ระหว่างประเทศ กรมปศุสัตว์ นำทีมเจ้าหน้าที่ มกอช. กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมวิชาการเกษตร อย. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์ ร่วมประชุมคณะทำงาน Codex สาขาเชื้อดื้อยา ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างวันที่ 10-18 มิถุนายน 2564 โดยมีผู้แทนประเทศสมาชิกและผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมกว่า 200 คน จากทั่วโลก

นายพิศาล พงศาพิชณ์

ในการประชุมมีการแลกเปลี่ยนความเห็น เพื่อปรับปรุงแก้ไขเอกสารแนวทางการบูรณาการการติดตามและเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพที่มาจากอาหาร (Draft Guidelines on Integrated Monitoring and Surveillance of Foodborne Antimicrobial Resistance, GLIS) และเอกสารหลักปฏิบัติที่ดีในการลดและควบคุมเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพที่มาจากอาหาร (Draft Revision of the Code of Practice to Minimize and Contain Foodborne Antimicrobial Resistance (CXC 61-2005 หรือ COP)

ทั้งนี้ ทีมไทยได้เสนอให้ปรับแก้รายละเอียดของร่างเอกสารทั้ง 2 เรื่อง ให้มีความยืดหยุ่น โดยคำนึงถึงความแตกต่างทางทรัพยากร และองค์ความรู้ของประเทศสมาชิกแต่ละประเทศ เพื่อให้สามารถนำเอกสารมาใช้ปฏิบัติได้จริง และไม่ก่อให้เกิดการกีดกันทางการค้า เราร้องขอให้หน่วยงานที่กำหนดมาตรฐานด้านพืช ให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นกับการดำเนินการที่เกี่ยวกับการลด ควบคุม การติดตามและเฝ้าระวังเชื้อดื้อยา การเก็บข้อมูลปริมาณการขายและการใช้ยาในพืช เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกยังมีข้อมูลด้านนี้อยู่อย่างจำกัด เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการทำงานเพื่อลดปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างมีประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่อาหาร โดยประธานคณะทำงาน Codex AMR จะนำข้อคิดเห็นทั้งหมดที่ได้รับไปปรับปรุงแก้ไขเอกสาร เพื่อนำเสนอให้คณะทำงานเฉพาะกิจสาขาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพของ Codex (Codex Ad Hoc Intergovernmental Task Force on Antimicrobial Resistance, TFAMR) พิจารณาต่อไปในการประชุมใหญ่ของคณะทำงานเฉพาะกิจ ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2564 ต่อไป

“สำหรับการแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาของประเทศไทยนั้น หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข ตระหนักถึงปัญหาเชื้อดื้อยา และให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด มีการจับมือกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 เพื่อเป้าหมายในการลดและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน”เลขาธิการ มกอช. กล่าว

ใหม่กว่า เก่ากว่า