นายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ในสุกร ที่เริ่มต้นจากประเทศจีนเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินมาตรการป้องกันในทันที โดยสั่งการให้กองสารวัตรและกักกันเข้มงวดตรวจสอบการนำเข้าสินค้าปศุสัตว์จากจีนและประเทศในกลุ่มเสี่ยง อาทิ เวียดนาม ลาว กัมพูชา พม่า ฯลฯ ด้วยการตรวจตลอด 24 ชั่วโมง ทางด่านกักกันสัตว์ท่าอากาศยาน ท่าเรือ และชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา สปป.ลาว พม่า มาเลเซีย ให้กำลังพลเจ้าหน้าที่สลับสับเปลี่ยนกันจากทั่วประเทศ สินค้าส่วนใหญ่ที่จากการตรวจสอบอย่างเข้มงวด พบว่าเป็นผลิตภัณฑ์จากสุกรที่ติดมากับสัมภาระ (Hand carry) ขณะเดียวกันกรมฯยังเดินหน้ามาตรการเชิงรุกเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคในฟาร์มเลี้ยงสุกรทั่วประเทศ ตลอดจนยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้การขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมระดมกำลังความสามารถของผู้เชี่ยวชาญ คณาจารย์ นักวิชาการ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงความร่วมมือจากเกษตรกรทุกคน ทำให้ไทยยังคงสถานะ “ประเทศปลอดโรค ASF” ได้อย่างเข้มแข็ง
อธิบดีกรมปศุสัตว์ |
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีการปล่อยข่าวหมูไทยเป็นโรค ASF โดยเฉพาะในพื้นที่ติดกับประเทศกัมพูชา เพื่อหวังกดราคาหมูให้ต่ำลง ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว พบว่าเป็นการพบเชื้อ ASF จากหมูที่ลักลอบนำเข้า ซึ่งไม่ใช่หมูจากประเทศไทย ทางฝ่ายไทยยืนยันกับหน่วยงานสุขภาพสัตว์และการผลิตราชอาณาจักรกัมพูชา (GDAHP) ว่ายังไม่มีการแพร่เชื้อนี้ในไทย พร้อมอธิบายแนวทางการป้องกันและเฝ้าระวังโรค ASF ที่ดำเนินการอย่างเข้มงวดมาอย่างต่อเนื่องตลอดเกือบ 3 ปี ส่งผลให้ยอดส่งออกหมูมีชีวิตเพิ่มขึ้น 340% โดยเฉพาะกัมพูชาซึ่งเดิมเป็นตลาดส่งออกสุกรมีชีวิตอันดับ 1 ของไทย มีหมูที่ส่งออกไปกัมพูชากว่า 58% ทำให้ทางการกัมพูชาได้ผ่อนปรนให้ผู้ส่งออกไทยสามารถส่งหมูไปเพิ่มอีก 6 ราย จากเดิม 5 ราย รวมทั้งหมดเป็น 11 ราย โดยไม่มีการจำกัดปริมาณโควตาแล้ว คาดว่าการส่งออกหมูปีนี้โตต่อเนื่อง และจะเป็นปีทองของผู้เลี้ยงอีกปีหนึ่ง
"กรมปศุสัตว์ย้ำว่า แม้ไทยจะปลอดจาก ASF แต่ยังคงเพิ่มมาตรการคุมเข้ม ASF เหมือนกับการคุมโควิด-19 มีการจัดโซนนิ่งพื้นที่ มียุทธศาสตร์หมูสะอาด การเดินหน้ามาตรฐานจุดจำหน่ายสินค้า "ปศุสัตว์ OK" ที่กระจายกว่า 7,000 จุดทั่วไทย ที่สำคัญจากการเก็บตัวอย่างสินค้าปศุสัตว์ในสถานที่จำหน่ายทั่วประเทศมาตรวจสอบ กว่า 1,500 ตัวอย่าง ผลปรากฎว่า ยังไม่มีสินค้าปศุสัตว์ใดที่ให้ผลโควิดเป็นบวก จึงขอให้ผู้บริโภคมั่นใจว่ากรมปศุสัตว์ได้ตรวจสอบตลอดห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่ฟาร์มจนถึงสถานที่จำหน่ายก่อนถึงมือผู้บริโภค ทั้งสินค้าหมู ไก่ เป็ด ไข่ เนื้อโค และแนะนำให้เลือกซื้อจากผู้ผลิตมาตรฐาน ได้รับรองจากกรมปศุสัตว์ และต้องรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่เท่านั้น ไม่ทานอาหารสุกๆดิบๆ" อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว
ทั้งนี้ การส่งออกหมูมีชีวิต จากข้อมูลของกรมปศุสัตว์ พบว่าในปี 2563 ไทยรวม 2.45 ล้านตัว มูลค่า 16,814 ล้านบาท โดยตลาดกัมพูชาอันดับ 1 ปริมาณ 1.49 ล้านตัว มูลค่า 9,856 ล้านบาท ส่วนการส่งออกสุกรแช่แข็งและแปรรูป ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ในปี 2563 มีมูลค่า 3,420 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 265% จากปี 2562 โดยมีตลาดฮ่องกง เป็นตลาดอันดับ 1 มูลค่า 3,246 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 356% และกัมพูชาเป็นอันดับ 2 มูลค่า 59.91 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 259%