Newstimestory

“ประเทศปลอด ASF” แบรนด์หมูไทย ป้องกันเข้มข้น เสริมพลังแกร่งช่วยเศรษฐกิจชาติ โดย สังวาลย์ สยาม นักวิชาการด้านเกษตรปศุสัตว์

“ประเทศปลอดจาก ASF” กลายเป็นแบรนด์ของหมูไทย ที่รอดพ้นจากโรคระบาดสำคัญในหมูที่คืบคลานเข้ามาตีป้อมปราการป้องกันโรคของหมูในประเทศแถบเอเชียรวมถึงอาเซียน จนแตกพ่ายมาเกือบ 3 ปี นับจากสิงหาคม 2561 เป็นต้นมา เริ่มจากเมืองหลวงของการเลี้ยงหมูในภูมิภาคนี้ อย่างประเทศจีน ที่ได้รับเชื้อจากฝั่งรัสเซียและยุโรป ก่อนวงของการระบาดจะแผ่ขยายกินพื้นที่ 35 ประเทศทั่วโลก ที่ต้องเผชิญหน้ากับโรคในปัจจุบัน 

แม้โรคนี้จะไม่ติดต่อจากหมูสู่คน ไม่เป็นอันตรายใดๆถึงผู้บริโภคอย่างด็ดขาด แต่ ASF ถือเป็นโรคร้ายแรงในหมูเพราะไม่มีทั้งวัคซีนป้องกัน หรือยาและวิธีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง ถ้าฟาร์มไหนโดนเล่นงานอัตราเสียหายเกือบ 100% หมูต้องถูกทำลายตามมาตรฐานการป้องกันโรค เพื่อจำกัดวงไม่ให้แพร่สู่ภายนอก ยังดีที่อัตราการแพร่เชื้อไม่รวดเร็ว เพราะไม่มีการแพร่กระจายเชื้อทางอากาศ (airborne) ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดจึงกลายเป็นปราการสำคัญ

ตระหนัก ไม่ตระหนก ถึงเวลาระดมสรรพกำลังชาวหมู

หลังจากรับรู้ว่า ASF เข้าโจมตีจีนได้แล้ว กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะโต้โผใหญ่ที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง ได้เร่งระดมสรรพกำลังดึงนักวิชการ คณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ สมาคมผู้เลี้ยงทั่วประเทศ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มาให้ข้อมูลโดยเฉพาะการป้องกันโรค กลายเป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่จากบุคลากรระดับมันสมองของประเทศ เพื่อตั้งค่ายกลเฝ้าระวังและป้องกันโรคนี้ในระดับสูงสุด ผ่านการประชุมมากกว่า 100 ครั้ง จนกลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของความร่วมมือครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้น แม้ทุกคนต่างลงความเห็นว่ายากที่จะสะกัดกั้นได้ ตราบที่ประเทศรอบไทยจะยังมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง 

หากแต่ไทยก็ยังมุ่งมั่นป้องกัน โดยเฉพาะรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และตัดสินใจถูกต้องในการยกระดับแผนรับมือโรคนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2561 และมีการแต่งตั้ง คณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ให้การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคเป็นไปได้อย่างคล่องตัว มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ปศุสัตว์ทุกพื้นที่ทำงานอย่างแข็งขัน ยึดหลักการสัตวเเพทย์ “รู้โรค รู้เร็ว สงบเร็ว” พร้อมกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนและผู้ที่ได้รับผลกระทบ 

ย้อนรอยความสำเร็จ เอกชนจิ๊กซอว์สำคัญดันยุทธศาสตร์ป้องกันโรค

จากเส้นทางการระบาดของโรคนับจากจีน ลาว เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา ขณะที่เวลานั้นไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวจีนและประเทศอื่นๆแบบไม่จำกัด ทำให้ไทยมีความเสี่ยงอย่างมากที่โรคนี้จะเล็ดรอดเข้ามาในประเทศได้ มาตรการสำคัญนอกจากการดำเนินการป้องกันและเฝ้าระวังในฟาร์มต่างๆอย่างเข้มงวด โดยคณะทำงานวิชาการในการป้องกันควบคุมและกำจัดโรค ASF ที่ต่างระดมกำลังเร่งยกระดับมาตรฐานการจัดการฟาร์มทั้ง GMP ในฟาร์มใหญ่ 2,785 ราย และ GFM ในฟาร์มรายย่อย 208,000 ราย และการนำระบบ Biosecurity เพื่อการป้องกันในระดับสูงสุดมาใช้ และปศุสัตว์ในทุกพื้นที่ก็เดินหน้าจัดอบรมให้กับเกษตรกรแบบปูพรมทั่วไทย ขณะที่ด่านปศุสัตว์ทั้ง 58 แห่งทั่วประเทศ ทั้งทางบก อากาศ และทางน้ำ ต่างเร่งตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพื่อสะกัดกั้นการลักลอบนำเข้าสัตว์หรือผลิตภัณฑ์ หรือแม้แต่ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ที่มักนำผลิตภัณฑ์เหล่านั้นติดตัวเข้าไทย  

ที่สำคัญยังมีการระดมความร่วมมือครั้งใหญ่จากทุกส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชนหลายรายที่เสียสละและพร้อมใจกันปกป้องอาชีพ และปกป้องอุตสาหกรรมหมู ด้วยการลงขันกันเป็นเงินหลายสิบล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการป้องกันโรคนี้ให้เกิดผลสัมฤทธิ์  อย่างเช่น การสร้างศูนย์ฆ่าเชื้อรถขนส่งสัตว์ตามด่านพรหมแดน ที่สำคัญเงินที่ลงขันกันนี้ กลายเป็นกองทุนชดเชยให้เกษตรกรรายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฟาร์มหมูหลังหลังบ้านที่ไม่มีระบบการป้องกันโรคที่ดี ในกรณีที่ต้องทำลายหมูที่ได้รับการวินิจฉัย ว่ามีความเสี่ยงในการติดและแพร่โรค ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการและภาคเอกชนยังใช้ความเข้มแข็งการเลี้ยงหมูตามมารตรฐานและองค์ความรู้ด้านการป้องกันโรคที่ดีอยู่แล้ว มาถ่ายทอดผ่านการจัดอบรมให้แก่เกษตรกรในเครือข่าย และเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ของตนเอง ถือเป็นอีกแรงสนับสนุนให้ยุทธศาสตร์การป้องกันเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

พลังหมูช่วยเศรษฐกิจชาติ

จากแบรนด์ “หมูปลอดโรค ASF” ทำให้หมูของไทยเนื้อหอมเป็นที่ต้องการของทุกประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโรคนี้ จนกระทบต่อปริมาณผลผลิตที่ลดลง ไม่เพียงพอกับความต้องการของคนในประเทศ ราคาดีดตัวขึ้นไป 2-3 เท่าตัว ซึ่งคนในวงการหมูเห็นโอกาสนี้ จึงมุ่งบริหารจัดการการผลผลิตหมูให้เพียงพอกับการบริโภคของคนไทย จากนั้นจึงใช้พลังหมูช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชาติในท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่การส่งออกสินค้าประเภทอื่นๆแทบจะหยุดชะงัก เหลือเพียงหมูที่กลายเป็นพระเอกหนึ่งเดียว ที่สามารถส่งออกไปตีตลาดต่างประเทศได้ถึง 2 ล้านตัว มูลค่า 13,000 ล้านบาท ในปี 2563 หรือเพิ่มขึ้น 344.30% จากปีก่อนหน้า และยังมีเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์จากหมูที่ส่งออกไปได้อีก 43,000 ล้านตัน มูลค่า 5.1 พันล้านบาท 

ที่สำคัญหมูไทยยังยืนหนึ่งในฐานะ “หมูถูกที่สุดในอาเซียน” ด้วยราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์ม 79-80 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ประเทศอื่นๆราคาพุ่งขึ้นไปหลายเท่าตัวแล้ว อย่างเช่น จีนหมูมีชีวิตราคาสูงถึง 132 บาทต่อกิโลกรัม  เวียดนามราคา 103 บาทต่อกิโลกรัม กัมพูชาราคา 108 บาทต่อกิโลกรัม และเมียนมาราคา 88 บาทต่อกิโลกรัม แม้ว่าเกษตรกรไทยต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้น จากสภาพอากาศร้อนจัดกระทบการเลี้ยงหมูและส่งผลต่ออัตราเสียหายที่เพิ่มขึ้น ภัยแล้งทำให้ขาดแคลนน้ำจนต้องซื้อน้ำใช้ กลายเป็นต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ก็ปรับขึ้นเป็นเงาตามตัว และยังมีปัญหาโรค PRRS ที่มาพร้อมกับหน้าร้อนอีก ต้นทุนการเลี้ยงหมูในปัจจุบันจึงพุ่งขึ้นไปเกินกว่า 77.49 บาทต่อกิโลกรัม ที่สศก.ประมาณการณ์ไว้แล้ว แต่เกษตรกรยังคงยืนหยัดสู้ต่อ เพื่อให้คนไทยไม่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนหมู และมีความมั่นคงทางอาหารต่อไป

วันนี้เป็นบทพิสูจน์แล้วว่าไทยสามารถป้องกันไม่ให้ ASF เข้ามาทำลายอุตสาหกรรมหมู ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับเกษตรกร รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ที่มีมูลค่ารวมกันถึง 2 แสนล้านบาท ไว้ได้อย่างสวยงาม หลังจากนี้เป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะต้องคงมาตรการป้องกันที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่อง และต้องใช้พลังที่เข้มแข็งของทุกคนในวงการหมู เพื่อปกป้องอาชีพตนเองและปกป้องผู้บริโภคคนไทยเช่นนี้ต่อไป

ใหม่กว่า เก่ากว่า