Newstimestory

ซีพีเอฟ ปันน้ำปุ๋ยให้เกษตรกรลดผลกระทบแล้งปีที่ 19 โชว์นวัตกรรมประหยัดน้ำในฟาร์มหมู

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เดินหน้าปันน้ำปุ๋ยให้เกษตรกร ต่อเนื่องปีที่ 19 มุ่งลดใช้ทรัพยากรน้ำในธรรมชาติ ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน เพิ่มรายได้เกษตรกรอย่างยั่งยืน เผยผลงานบรรลุเป้าหมายลดการใช้น้ำในฟาร์มสุกร 2.34 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทตระหนักถึงปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะในปีนี้ประเทศไทยจะต้องเผชิญวิกฤตแล้งหนัก จากปริมาณฝนสะสมน้อยกว่าปกติติดต่อกัน 2 ปี ส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงพอต่อภาคการเกษตร ซีพีเอฟจึงสานต่อโครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร ที่อยู่ใกล้เคียงฟาร์มเลี้ยงสุกร ที่ดำเนินการมาตลอด 19 ปี โดยปี 2553 ที่ผ่านมา ได้ปันน้ำปุ๋ยแก่เกษตรกร 210 ราย ปริมาณน้ำทั้งสิ้น 2,281,851 ลูกบาศก์เมตร บนพื้นที่ 3,213 ไร่ สำหรับเพาะปลูกพืชหลากหลายชนิด ทั้งสวนผลไม้ ไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด มันสัมปะหลัง ยูคาลิปตัส ปาล์มน้ำมัน ต้นสัก ยางพารา หญ้าเลี้ยงสัตว์ สวนไผ่ มะนาว กล้วย พืชผักสวนครัว ฯลฯ 

“ซีพีเอฟนำน้ำที่ออกจากระบบไบโอแก๊ส และผ่านการบำบัดจนเป็นน้ำที่มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ที่เรียกว่า “น้ำปุ๋ย” กลับมาใช้ประโยชน์ ทั้งรดต้นไม้ สนามหญ้า และผักปลอดภัยจากสารพิษที่พนักงานปลูกในฟาร์ม และยังส่งต่อน้ำปุ๋ยที่มีแร่ธาตุเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชทุกชนิด ให้กับพี่น้องเกษตรกรที่ขอรับน้ำในช่วงฤดูแล้ง ซีพีเอฟภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยลดผลกระทบจากภัยแล้งให้กับเกษตรกร และยังช่วยเพิ่มผลผลิต ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และลดต้นทุนค่าน้ำค่าปุ๋ยแก่เกษตรกรได้กว่า 1.3 ล้านบาทต่อปี” นายสมพร กล่าว


ด้าน นางยุพิน อะตะมะ หนึ่งในเกษตรกรกว่า 40 ราย ที่ร่วมโครงการน้ำปุ๋ยสู่ชุมชน กับฟาร์มสุกรจอมทอง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ปกติซีพีเอฟจะมีระบบใช้น้ำหมุนเวียนภายในฟาร์ม ไม่ปล่อยน้ำออกสู่ภายนอก แต่ด้วยน้ำปุ๋ยมีแร่ธาตุที่ดีสำหรับต้นพืช โดยเฉพาะธาตุไนโตรเจนและฟอสฟอรัสสูง ถือเป็นปุ๋ยชั้นดี เกษตรกรจึงขอรับน้ำมารดต้นพืชตลอดปี โดยตนเองรับน้ำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 สำหรับรดต้นข้าวโพดหวาน 2 ไร่ และผักสวนครัวอีก 1 ไร่ ที่ผ่านมาไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีอีก สภาพดินก็ดีขึ้น พืชที่ปลูกงอกงาม ผลผลิตข้าวโพดหวานเพิ่มขึ้นมากกว่า 60% การปันน้ำให้เกษตรกร สามารถเพราะปลูกได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงแล้งที่ช่วยคลี่คลายปัญหาให้เกษตรกรได้ทุกปี และยังช่วยให้มีรายได้เพิ่มจากผักที่เก็บขายได้ทุกวัน

ขณะเดียวกัน ซีพีเอฟยังเน้นย้ำให้ฟาร์มของบริษัททั่วประเทศ เดินหน้ามาตรการใช้น้ำอย่างประหยัด คุ้มค่า มีประสิทธิภาพสูงสุด ป้องกันการสูญเสีย และลดการใช้น้ำอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้สามารถลดการใช้น้ำในการเลี้ยงสุกรได้มากกว่า 5% ต่อปี และในปี 2563 บริษัทบรรลุเป้าหมายประหยัดน้ำที่ตั้งไว้ โดยประหยัดน้ำในการผลิตได้ถึง 2.34 ล้านลูกบาศก์เมตร มูลค่าประหยัด 16.03 ล้านบาท สามารถลดการใช้น้ำในฟาร์มพ่อแม่พันธุ์สุกรจาก 138 ลิตรต่อตัวต่อวัน จากปี 2556 ซึ่งเป็นปีฐาน เหลือ 103 ลิตรต่อตัวต่อวัน ในปีที่ผ่านมา ส่วนฟาร์มสุกรขุนลดจาก 45 ลิตรต่อตัวต่อวัน เป็น 34 ลิตรต่อตัวต่อวัน

ความสำเร็จดังกล่าว เกิดจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการวิเคราะห์การใช้น้ำ เพื่อหาโอกาสลดปริมาณการใช้ในแต่ละจุด พร้อมติดตั้งมิเตอร์น้ำประจำจุดจ่ายน้ำต่างๆ ทำให้ทราบจุดวิกฤติ อาทิ บางจุดที่มีท่ออยู่ใต้ดินเมื่อเกิดน้ำรั่วไหลมิเตอร์น้ำจะแสดงผลทันที ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดและทันท่วงที ขณะเดียวกัน ยังมุ่งเน้นการใช้อุปกรณ์ควบคุมสภาพแวดล้อมด้วยระบบอีแวป (EVAP) ที่มีประสิทธิภาพ ช่วยลดการใช้น้ำในระบบทำความเย็น ควบคู่กับการออกแบบโรงเรือนที่ช่วยลดการล้าง อย่างเช่น นวัตกรรมส้วมน้ำที่ทำให้คอกเลี้ยงสะอาดจึงช่วยลดการใช้น้ำได้ พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีการบำบัดน้ำที่ช่วยให้ฟาร์มสามารถนำน้ำหลังจากบำบัดมาผ่านการฆ่าเชื้ออีกครั้ง เพื่อกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตได้อีก ด้วยการใช้น้ำ Recycle ในการล้างโรงเรือนเลี้ยงสุกรหลังจากจับสุกรออก ล้างพื้นถนนและลานจอดรถ ช่วยลดการใช้น้ำดิบจากแหล่งน้ำธรรมชาติ และเดินหน้าโครงการรณรงค์ประหยัดน้ำอย่างต่อเนื่อง




ใหม่กว่า เก่ากว่า