นักวิจัยทุนสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โชว์เทคนิคการปลูกองุ่นไชน์มัสแคท พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ณ สวนองุ่นไชน์มัสแคท อำเภอพรหมพิราม จ.พิษณุโลก หลังจากสะสมความรู้เกี่ยวกับการผลิตและการจัดการเก็บเกี่ยวองุ่นราคาแพงจากทั้งสวนองุ่นในญี่ปุ่นและสวนองุ่นในไทย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์เกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก และหัวหน้าโครงการการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตองุ่นไซน์มัสแคทเชิงพาณิชย์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สาธิตการปลูกองุ่นไชน์มัสแคมระหว่างการอบรมการปลูกและการดูแลรักษาองุ่นไชน์มัสแคทพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 ณ ไร่ฟาร์มอดุลย์ ตำบลวงฆ้อง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก
ทางด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมตามแผนงานสำคัญของประเทศ ภายใต้กรอบการวิจัยที่กำหนดและเน้นการวิจัยเชิงรุก ซึ่งผลการวิจัยจะต้องมีเป้าหมายของผลผลิตและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยมุ่งเน้นความสอดคล้องกับแผนงานหลัก รวมทั้งมีการกำหนดตัวชี้วัดที่แสดงถึงการบรรลุเป้าหมายในระดับผลผลิตและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในด้านความคุ้มค่า ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ทั้งเชิงปริมาณ คุณภาพ เวลา และต้นทุน ตลอดจนมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน และการเกษตรเป็นหนึ่งใน 7 โจทย์ท้าทายเร่งด่วนสำคัญของประเทศที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท และคณะนักวิจัย ได้จัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้สนใจ ภายใต้โครงการการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตองุ่นไซน์มัสแคทเชิงพาณิชย์ สาธิตการปลูกองุ่นไชน์มัสแคท ระหว่างการอบรมการปลูกและการดูแลรักษาองุ่นไชน์มัสแคทพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ระหว่างวันที่ 15-16 มีนาคม 2564 ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก และได้นำเกษตรกรและประชาชนผู้สนใจเข้าศึกษาดูงานที่ไร่ฟาร์มอดุลย์ อำเภอพหรมพิราม ทั้งนี้มีเกษตรกรให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการอบรม จำนวน 120 คน และนำผู้อบรมศึกษาดูงานต่อ จำนวน 30 คน ในวันที่ 17 มีนาคม 2564 ณ จังหวัดเชียงใหม่